วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แสงสุดท้ายที่ Yokohama


อีกร้อยปีข้างหน้า ถ้าโลกยังคงไม่แตก และเมืองแห่งอนาคตมีอยู่จริง
ย่าน Minato Mirai ของ Yokohama ในปัจจุบัน คงเป็นเมืองในจินตนาการที่ใฝ่ฝันถึง


















แม้ไม่ได้ฉูดฉาด และวูบวาบเหมือนที่เห็นอย่างฉากในหนัง Sci-Fi จนชินตา
แต่กว่าจะเดินทางถึง "แสงสุดท้าย" ของ Yokohoma
คงต้องใช้ระยะเวลาจนแสงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าออกมาทักทาย



















สีสันที่มากมายของ Yokohama ทำให้บางครั้งเราก็ลืมไปว่า เดินทางมาที่นี่เพื่ออะไร
จากความตั้งใจแรกเมื่อตอนเห็นรูปของ Osanbashi Pier ท่าเรือหน้าตาแปลกประหลาด
เต็มไปด้วยดีไซน์และไอเดียในการออกแบบก่อสร้าง ไม่เหลือเค้าของความเป็นท่าเรือให้เห็นแม้แต่น้อย
ก็คิดว่านี่แหละ คือ จุดหมายปลายทาง



Fuji-San แอบซ่อนอยู่ระหว่างตึก
 

แต่พอมาถึง Osanbashi Pier ในตอนก่อนพระอาทิตย์ตก
จุดหมายปลายทางของเราได้เปลี่ยนไปตาม "แสงไฟ" อื่นๆที่ค่อยๆปรากฎขึ้นมา
พร้อมๆกับการหายตัวไปของ Fuji-San ที่ช่วงตอนเย็นยอมเผยตัวให้เราได้เห็น
ก่อนจะโดนกลบด้วยแสงไฟมื่อความมืดมิดมาเยือน

ช่วงหน้าหนาว Yokohama ดูคึกคักเป็นพิเศษ
จากแดดที่ร้อนแรงในตอนกลางวัน Yokohama เปลี่ยนไปมากในยามเย็นจนถึงพลบค่ำ
หลังจากเก็บภาพแสงยามเย็นจนหนำใจ จาก Osanbashi Pier เราเดินตามแสงไฟไปยัง
Red Brick Warehouse แลนมาร์คสำคัญของ Yokohama ซึ่งในช่วงมกราคม - กุมภาพันธ์ของทุกปี
พื้นที่ว่างด้านหน้าจะเปลี่ยนเป็นลานสเก็ตน้ำแข็งกลางแจ้ง คราคล่ำไปด้วยชาวญี่ปุ่น
และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จนทำให้ลานสเก็ตน้ำแข็งดูแน่นขนัด






















เมียงมองอยู่ด้านนอก คนเมืองร้อนอย่างเราก็ขอแค่เก็บภาพและเดินสำรวจย่าน
Red Brick Warehouse ที่ข้างในตึกมีร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกต่างๆ
ก่อนมุ่งหน้าสู่แสงถัดไปที่ย่านตึกระฟ้าของ Minato Mirai

ชิงช้าสวรรค์ของ Cosmo World ที่เด่นสะดุดตาเมื่อมองจาก Osanbashi Pier
กลับดูธรรมมาเมื่ออยู่ใกล้แค่เอื้อม เช่นเดียวกับตึก Landmark Tower
ที่แทบจะเดินผ่านโดยไม่ได้สังเกตุเลยว่า นี่คือตึกสำคัญแห่งหนึ่งของ Yokohama

เมื่อการตามหาแสงสุดท้ายที่ Yokohama เริ่มส่อให้เห็นถึงความผิดหวัง
ความสวยงามจากแสงไฟที่เห็นจากระยะไกล เป็นแค่ภาพลวงตาเมื่ออยู่ใกล้

ความหวังในแสงสุดท้ายของเราจึงฝากไว้กับ Tokyo Tower
สิ่งก่อสร้างที่เปรียบเหมือนกับแสงสุดท้ายของชาวญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Tadaima Tohoku


เสียงใสๆ ของ Haruka Ayase กับหน้าที่แอมบาสเดอร์ให้กับการท่องเที่วยวภูมิภาค Tohoku ในแคมเปญ
"Tadaima Tohoku" เกิดขึ้นมาพร้อมกับการรับบทบาทวีรสตรีหญิงแห่งญี่ปุ่นในไทกะ โดราม่า เรื่อง Yae No Sakuraที่ได้เห็นโดยบังเอิญในยูทูป ทำให้เราหันมาสนใจที่จะลองทำความรู้จักกับ Tohoku อย่างจริงจัง จากตอนแรกที่ตั้งใจไปสัมผัสแค่เพียง Nyoto Onsen หนึ่งใน Dream Destination ของพวกเรา




ทุกครั้งที่ออกนอกเส้นทางการเดินทางเดิมๆ การบ้านที่ต้องทำเป็นลำกับแรกก่อนการเดินทาง คือการศึกษาภูมิศาสตร์ของสถานที่ๆที่จะไป ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะให้เราเข้าใจในสภาพภูมิประเทศ การเลือกประเภทของยานพาหนะในการเดินทาง และวางแผนการเดินทางได้อย่างรัดกุมมากขึ้น

Tohoku ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู ซึ่งเป็นเกาะเดียวกับที่ตั้งของโตเกียว มหานครของประเทศญี่ปุ่น ทำให้การเดินทางไปยังภูมิภาคนี้สะดวกสบายด้วยรถไฟความเร็วสูง โดยจะมีรถไฟวิ่งตรงจากโตเกียวไปยังจังหวัดต่างๆทั่วภูมิภาค โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนขบวน และใช้เวลาโดยประมาณ 2-4 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับระยะความใกล้ไกล



แม้จะขัดกับความชอบในการเดินทางด้วยรถไฟท้องถิ่นแบบถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง แต่ในระยะเวลา 5 วันกับ 5 จุดหมายปลายทางที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆทั่ว Tohoku ตั๋วรถไฟ JR East Pass แบบ 5 วัน ในราคา 11,000 เยน จึงลงตัวกับการเดินทางมากที่สุด

JR East Pass วิธีการใช้ไม่ต่างจาก JR Pass เพียงแค่ว่า JR East Pass ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ทางส่วนตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงบางส่วนของภูมิภาค Kanto และภูมิภาค Tohoku ทั้งหมด ในขณะที่ JR Pass ครอบคลุมการเดินทางด้วยรถไฟทั่วประเทศ

เริ่มต้นวันแรกของการใช้ JR East Pass ด้วยการเดินทางสู่ Sendai ซึ่งเปรียบได้กับเมืองหลวงของภูมิภาค Tohoku หลังจากเดินชมเมืองท่ามกลางอุณหภูมิติดลบยามค่ำคืน เติมพลังด้วย "Gyutan" หรือ "ลิ้นวัวย่าง" อาหารประจำท้องถิ่น ก่อนจะเริ่มทริปแช่ออนเซนกันจนตัวเปื่อย 3 วันติด เพราะอากาศหนาวๆอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่จะมีความสุขไปกว่าการได้แช่น้ำท่ามกลางหิมะที่กำลังโปรยปราย

ความสุขง่ายๆที่ต้องแลกกับการเดินทางหลายพันกิโลเมตร

เริ่มต้นทริปบ่อน้ำร้อนด้วยไฮไลท์ประจำทริป  Nyoto Onsen ในจังหวัด Akita โดยเราเลือกพักที่ Tsurunoyu ที่มีบ่อน้ำร้่อนกลางแจ้งเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ดั้นด้นมาเยือนตลอดทั้งปี

ออนเซนในตำนานที่ดั้นดนมาไกลหลายพันกิโล


วันที่สองเราออกเดินทางจาก Akita มุ่งหน้า Fukushima โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ Takayu Onsen ซึ่งต้องนั่งรถบัสจากสถานีรถไฟ Fukushima ไปประมาณ 40 นาที

Takayu Onsen ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งคนญี่ปุ่นเอง และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยิ่งเกิดเรื่องร้ายกับ Fukushima ยิ่งทำให้ที่นี่เงียบเหงามากขึ้น แต่นั่นก็เป็นข้อดีสำหรับนักท่องเที่ยวงบน้อยอย่างเรา โรงแรมส่วนใหญ่พากันลดราคาเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว เราจึงได้ที่พักสุดหรู พร้อมแช่ออนเซนสบายในราคาเพียงแค่ 5,000 เยนเท่านั้น (ไม่รวมอาหารเช้า-เย็น แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเราตุนมาจากซูเปอร์มาเก็ตที่สถานีรถไฟแล้ว)

โรงแรมที่พักใน Takayu Onsen มองเห็นวิวของ Fukushima ได้ทั้งเมือง
ออนเซนของโรงแรมที่พัก

ก่อนลาจาก Takayu Onsen ขอแช่ออนเซนกลางแจ้งของโรงแรมข้างๆ


วันที่สามยังคงอยู่ใน Fukushima มุ่งหน้าสู่ Aizu Wakamatsu เมืองประวัติศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น กับอีกหนึ่งโรงแรมหรูในราคาเบาๆ (อีกแล้ว) แถว Higashiyama Onsen

หิมะขาวโพลนระหว่างทางไป Aizu Wakamtsu
Higashiyama Onsen




Aizu Wakamatsu ในวันนี้เต็มไปด้วยความหวังของคน Fukushima ที่จะใช้เมืองนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ Fukushima มามีชีวิตชีวาเหมือนเดิมอีกครั้ง ผ่านละครอิงประวัติศาสตร์ หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า Taiga Drama เรื่อง Yae No Sakura ที่ได้ Haruka Ayase มาแสดงนำ ก่อนพ่วงด้วยแคมเปญ Tadaima Tohoku ที่แนะนำข้อมูลท่องเที่ยวและความน่าสนใจในเมืองนี้


โปสเตอร์ของ Ayase ในบทของ Niijima Yae ติดอยู่ทั่วเมือง

ธงโปรโมทสถานที่ถ่ายทำเรื่อง Yae No Sakura เห็นได้ตลอดสองข้างทางในเมือง Aizu Wakamatsu


แม้หิมะจะทำให้บรรยากาศของ Fukushima ดูหม่นกว่าที่เป็นอยู่ แต่วันนี้ของ Tohoku โดยเฉพาะในจังหวัด Fukushima เริ่มมีความคึกคักของนักท่องเที่ยวให้เห็น ซึ่งการเลือก Fukushima เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางทริปนี้ ส่วนหนึ่งเพราะอยากให้กำลังใจให้ Fukushima ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ อีกส่วนหนึ่ง อยากเห็นด้วยตาตัวเองว่า นอกเหนือจากเรื่องร้ายๆที่เสพจากข่าวสารแบบไม่รู้จบแล้ว Fukushima ยังมีความสวยงามอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง

ปราสาท Aizu Wakamatsu ปกคลุมด้วยหิมะ

แม้ Fukushima จะทำหน้าที่แบบขาดๆเกินๆไปบ้าง อาจไม่มีเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษในการให้คำแนะนำกับนักท่องเที่ยว การเดินทางที่ไม่สะดวกสบายเทียบเท่าจังหวัดอื่นในญี่ปุ่น

แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาจากสองคืนใน Fukushima หนึ่งคืนใน Sendai และหนึ่งคืนใน Akita ทำให้ทริปนี้เป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องกลับมาเยือนอีกครั้งพร้อมด้วยคำทักทายสั้นๆที่เชื่อว่าทุกคนที่นี่อยากได้ยิืน มากที่สุด

 "Tadiama Tohoku"

ป.ล. "Tadaima" แปลว่า "กลับมาแล้ว" เป็นสำนวนที่คนญี่ปุ่นพูดกันเป็นประจำเมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน
โดยมักใช้คู่กับคำว่า "Okaerinasai" ที่แปลว่า "ยินดีต้อนรับกลับบ้าน" 

คำเตือน: ทั้งหมดเป็นความรู้ที่ได้จากการดูซีรีย์ญี่ปุ่นล้วนๆ



วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

เรื่องเล่าจากสึนามิ 2011 ระหว่างทางของการเดินทาง



"การเดินทาง" ไม่ใช่เรื่องของการไปให้ถึง "จุดหมายปลายทาง" เท่านั้น
แต่ยังมีเรื่องราวที่เกิดขึ้น "ระหว่างทาง" ี่ผ่านเข้ามาให้จดจำ
และบางครั้งอาจมีความหมายมากกว่าจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไปเสียอีก

เหตุการณ์สึนามิ 2011 ที่ประเทศญี่ปุ่น
ช่วยให้เข้าใจในหน้าที่ของ "โชคชะตา"
และความสำคัญของ "ระหว่างทาง" มากขึ้นหลายเท่า

อาจเป็นโชคชะตา ที่ทำให้เรารู้สึกว่าสองคืนใน Kawaguchiko ช่างยาวนานเกินไป
และดลใจให้เราตัดสินใจออกนอกแผนการเดินทางเดิม
จนพบเมืองระหว่างทางเล็กๆแห่งหนึ่งในคาบสมุทร Izu พร้อมด้วยน้ำใจงามๆจากลุงร้านซูชิ

แม้จะอยู่กับฟูจิอย่างเต็มอิ่มแบบเห็นกันเบื่อไปข้างตลอด 2 วัน 2 คืน
แต่ Kawaguchiko ก็ยังไม่ทำให้รู้สึกอิ่มใจเท่ากับ Takayama
ก่อนเดินทางกลับไป Nagoya พวกเราจึงตกลงกันว่า น่าจะแวะเมืองเล็กๆอีกสักแห่งก่อนกลับ
ขวนขวายหากันอยู่สองชั่วโมง จนมาลงตัวที่เมือง Shuzenji
แน่นอนเหตุผลสำคัญที่เลือกที่นี่เพราะเป็นเมืองออนเซน

Izuhakone Line

13 สถานีของ Izuhakone Line



















เพียง 4 สถานีก่อนถึงปลายทาง พวกเราแวะเติมพลังข้าวญี่ปุ่นที่ร้านซูชิสไตล์ Edo-Mae (แปลว่าก่อนยุคเอโดะ) แห่งหนึ่งในเมือง Izunagaoka ซึ่งเป็นมื้อที่ต้องจดจำจากความเพลิดเพลินใจในบทสนทนากับ    ยามาดะซัง เจ้าของร้าน ที่ได้ให้ความรู้ต่างๆนานาเกี่ยวกับซูชิ แกล้มอาหารมื้ออร่อยที่สุดมื้อหนึ่งในชีวิต และน้ำใจที่ทำให้หลังจากนี้พวกเราต้องกลับไปหาลุงทุกปี



ณ ร้านดารุมะ












ฝีมือการแร่ซูชิของยามาดะซัง
















เมือง Shuzenji มีครบสำหรับการพักผ่อนในหนึ่งวัน วัด ศาลเจ้า สวนไผ่ และออนเซน คนญี่ปุ่นที่พอมีฐานะ โดยเฉพาะจากโตเกียวมักเลือกที่นี่เป็นแหล่งพักผ่อนในช่วงวันหยุด ซึ่งพวกเราก็อยู่ที่เมือง Shuzenji ระหว่างที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว


Shuzenji สวย งาม สงบ














แต่ถามว่าตอนนั้นรู้หรือเปล่าว่า เกิดแผ่นดินไหว ตอบได้อย่างมั่นใจเลยว่า "ไม่"
ยังคงเดินสำรวจเมืองอย่างสนุกสนาน อินไปกับความสงบ เรียบง่ายของเมือง
อาการบอกเหตุเพียงอย่างเดียวที่รู้สึกตอนนั้น คือ เวียนหัว วูบๆ ซึ่งเป็นเพียงชั่วครู่ก็หาย

จนกระทั่งระหว่างเดินทางกลับแม่โทรศัพท์เข้ามา น้ำเสียงเต็มไปด้วยความดีใจที่ติดต่อลูกสาวได้
สอบถามไปมาจึงรู้ว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหว ระดับความรุนแรงเทียบเท่ากับก็อตซิลล่าถล่มเมือง
แต่พอหันมองซ้าย มองขวา เจอคนญี่ปุ่นที่นั่งรถไฟมาด้วยกัน ทุกคนก็ยังดูนิ่ง ไม่ตื่นตกใจอะไร
ความชิลจึงกลับมาอีกครั้ง ก็ญี่ปุ่นแผ่นดินไหวบ่อยอยู่แล้วนี่ คงไม่มีอะไรรุนแรง

จนเมื่อมาถึงสถานีรถไฟ Mishima ซึ่งเป็นสถานีหลักเพื่อนั่งรถไฟต่อไปยัง Nagoya
แล้วเราก็พบความจริงที่ว่า รถไฟ JR ทุกขบวนหยุดการเดินทาง สัญญาณโืืทรศัพท์มือถือเริ่มขาดๆหายๆ
ผู้คนโดยรอบเริ่มมีท่าทีกระวนกระวาย และหลายคนถอดใจเริ่มนั่งรออย่างหมดความหวัง

พวกเราเริ่มตระหนักได้ถึงความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้
และเข้าใจได้ทันทีว่า วันนี้เราคงไม่ได้กลับ Nagoya อย่างแน่นอน
ถึงแม้ Mishima จะเป็นเมืองใหญ่ แต่ระยะเวลาเพียงชั่วโมงเดียว โรงแรมทุกแห่งในเมืองถูกจับจอง
หลังจากเดินตระเวนหาห้องพักว่างทั่วทั้งเมืองจนหมดแรง
เรานึกถึงที่ไหนไม่ออก ยกเว้น  ร้านซูชิของยามาดะซัง ที่เพิ่งไปทานมาเมื่อตอนเที่ยง
พวกเราจึงลงความเห็นกันว่า นั่งรถไฟย้อนกลับไปน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


ขอบคุณตำรวจหลังจากให้ช่วยแนะนำที่พัก















สองเท้าไวเท่าความคิด พร้อมใจกันแบกกระเป๋าวิ่งไปยังรถไฟ
อีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น พวกเราก็มายืนหมดแรงกันอยู่หน้าร้านซูชิ
ทันทีที่ลุงยามาดะเห็นพวกเรา แทบไม่ต้องใช้ภาษามือและภาษาญี่ปุ่่นที่พูดได้เพียงน้อยนิดอธิบาย
ก็เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในทันที

"ทานอะไรกันมาหรือยัง" เป็นคำถามที่ออกมาจากปากลุงยามาดะ
ก่อนที่ลุงจะไปเตรียมซูชิจานใหญ่ ชาร์จพลังให้พวกเราได้มีแรงหาที่พักต่อไปในคืนนี้
ระหว่างทานไปลุงก็ค่อยอัพเดทสถานการณ์ให้พวกเราฟังอย่างต่อเนื่อง
เพราะถึงแม้จะเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรง แต่รายการข่าวของญี่ปุ่นก็ไม่มีการรายงานเป็นภาษาอังกฤษเลยแม้ลุงจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และพวกเราก็สนทนาภาษาญี่ปุ่นได้เพียงเล็กน้อย
แต่การสื่อสารไม่เกินความพยายามในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
เพื่อนในกลุ่มเริ่มทยอยกันโทรกลับบ้านที่เมืองไทย

และในที่สุด หลังจากจัดการซูชิจานใหญ่จนเกลี้ยง
พวกเราก็หาที่พักนอนในคืนนั้นได้ในโรงแรมขนาดเล็กห่างจากร้านซูชิไปแค่เพียงไม่กี่ร้อยเมตร





















คืนที่พวกเราคิดว่าจะต้องเป็นหนึ่งในคืนที่โหดร้าย
กลับกลายเป็นคืนที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
พวกเรากินอิ่ม นอนหลับสบาย และตื่นมาอย่างสดใส
เตรียมพร้อมกับการผจญรถไฟ เพื่อเดินทางกลับไปยัง Nagoya





















เรื่องราว "ระหว่างทาง" กลับกลายเป็นความทรงจำที่มีค่าที่สุดในทริป
สำหรับพวกเรา ซูขิจากความตั้งใจและน้ำใจของลุงอร่อยที่สุดเสมอ




วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Onsen ยาสามัญประจำทริป


ไม่ว่าจะอากาศติดลบสิบองศา หิมะหนาท่วมตัว
หรือร้อน 30 องศา ชนิดที่ว่ายืนเฉยๆก็เหงื่อแตกได้

"Onsen" ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเที่ยวญี่ปุ่น
เป็นยาสามัญประจำทริปที่ขจัดความเมื่อยล้าที่สั่งสมมาจากการทำงานในเมืองไทย
สร้างความสดชื่นให้มีแรงออกเดินทางท่องเที่ยวต่อไป
และเป็นสิ่งแรกที่คิดถึงทุกครั้งหลังการเดินทางจบลง





















ประสบการณ์ออนเซนครั้งแรกเกิดขึ้นฟรีแบบไม่มีเสียสตางค์
ณ ร้านข้าวหน้าเนื้อเล็กๆแห่งหนึ่งในเมือง Takayama
มิตรภาพระหว่างเจ้าบ้านชาวญี่ปุ่น กับผู้มาเยือน
เกิดขึ้นหลังจากการชักชวนให้ลองจิบสาเกหลังมื้ออาหารเย็น
ก่อนที่จะจบลงด้วยคำเชิญชวนให้แช่ออนเซนขณะที่อุณหภูมิเริ่มลดต่ำลงเรื่อยๆ















ถึงแม้ตอนนั้นจะไม่รู้ว่าการแช่ออนเซนเป็นยังไง
ประสบการณ์ออนเซนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเพียง 5 ชั่วโมงที่เมือง Gero
คือการนำเท้าไปจุ่มในน้ำอุ่น ไม่เพียงพอที่ช่วยเติมจินตนาการถึงความรู้สึกที่ลงไปแช่ทั้งตัว
แต่ด้วยน้ำใจของเจ้าบ้านที่เกิดจากน้ำเมา พวกเราก็เลยฝ่าความหนาว
เดินไปยังโรงแรมแห่งหนึ่งบนเนินเขา
โดยมารู้ทีหลังว่า ลุงที่ร้านข้าวหน้าเนื้อ เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งนี้

งกๆเงิ่นๆอยู่กว่า 15 นาที กับการหาผ้าเช็ดตัว ก่อนจะถึงบางอ้อ เมื่อมีคนญี่ปุ่นมาใช้บริการว่า
การแช่ออนเซน ต้องอาศัยใจที่กล้าแก้ผ้า และหน้าที่ต้องยิ้มรับกับความล้อนจ้อน
ทำใจสักพักว่า มันเป็นธรรมเนียมของเขา เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
ก่อนตัดใจถอดเสื้อผ้าทิ้งไว้ในล็อคเกอร์ เดินดุ่ยๆเข้าไปล้างตัว (ทำตามคนญี่ปุ่น)
ก่อนลงไปแช่ในน้ำที่ร้อนเกือบ 40 องศา















ผ่านไป 10 นาที ความสบาย และความสงบ เกิดขึ้นอย่างประหลาด
ความร้อนของน้ำกับอากาศที่หนาวจับใจ กลายเป็นความสมดุล
เป็นความรู้สึกผ่อนคลายที่เข้ามาแทนที่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
ในตอนนั้น รู้ทันทีว่า ได้เกิดอาการ "เสพติดออนเซน" เข้าให้แล้ว















เดินออกมาจากออนเซน แต่งตัว เป่าผม ทาครีมให้เรียบร้อย
เลือกกดน้ำในตู้ จิบไประหว่างนั่งอยู่บนเก้าอี้นวดไฟฟ้า
ความสุขง่ายๆที่กลายเป็น A Must ในการเที่ยวญี่ปุ่นครั้งต่อๆไป



วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Seishun 18 Kippu - เวลาเดินช้าบนรถไฟ

นักท่องเที่ยวงบจำกัดแบบเรา การเดินทางด้วย JR Pass ที่ราคาเกือบหมื่นบาทต่อการเดินทาง 7 วัน
ไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการเดินทาง

ยิ่งงบจำกัดมากเท่าไร ยิ่งต้องค้นหาข้อมูล เตรียมตัวมากขึ้นกว่าคนอื่นหลายเท่า

การไปญี่ปุ่นด้วยตัวเองครั้งแรกเมื่อปี 2011 เวลา 9 วันกับงบประมาณ 100,000 เยน พร้อมเพื่อนร่วมทางอีก 4 คน พวกอยู่รอดได้อย่างสบายๆ กินอิ่มนอนหลับตามอัตภาพ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณใครก็ตามที่คิดค้นตั๋ว Seishun 18 Kippu (18 อ่านว่า Juhachi) ขึ้นมา (ประหนึ่งมันเป็นของวิเศษจากกระเป๋าโดเรมอนที่ช่วยให้เราประหยัดค่าเดินทางไปได้เยอะ)


หากใครประทับใจกับความรวดเร็ว สะดวกสบายของการเดินทางด้วยชิงกันเซน ต้องการไปถึงจุดหมายปลายทางให้เร็วที่สุด  แถมงบไม่อั้น ขอให้ข้ามโพสต์นี้ไป เพราะ Seishun 18 Kippu เป็นพาสที่ใช้ได้เฉพาะกับรถไฟท้องถิ่นเท่านั้น (พวกเราเรียกตั๋วใบนี้ว่า "บัตรเบ่งสำหรับรากหญ้า") ซึ่งระดับความช้าเทียบได้กับเต่าคลานเลยทีเดียว 

แต่ความพิเศษของบัตรนี้ไม่ได้อยู่แค่การใช้ขึ้นรถไฟท้องถิ่นฟรีตลอดวัน แต่ความหยืดหยุ่นของบัตรนี้ ทำให้เราถึงกับอึ้ง+ทึ่งในความคิดสร้างสรรค์ของเงื่อนไขการใช้ตั๋ว

Seishun 18 Kippu ราคา 11,500 เยน ใช้ได้ทั้งหมด 5 ครั้ง และสามารถแบ่งกันใช้กับเพื่อนได้ ซึ่งคำว่า "ครั้ง" นี่แหละ ที่ทำให้ตั๋วนี้มีความพิเศษขึ้นมา

แบบที่ 1 หากมาเที่ยวพร้อมกัน 5 คน ทุกคนสามารถแบ่งกันใช้ตั๋วนี้ได้ตลอดการเดินทาง 1 วัน
ขอยกตัวอย่างการใช้ตั๋วแบบที่ 1 จากประสบการณ์ตรง พวกเรา 5 คนใช้ตั๋วนี้เดินทางจาก Nagoya ไป Takayama ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ถ้าตั้งใจไปเที่ยวมักเลือกเดินทางด้วย Hida Wide View Train แต่ด้วยตั๋วนี้ไม่สามารถเดินทางด้วยรถไฟดังกล่าวได้ เราทั้ง 5 คนจึงต้องเดินทางด้วยรถไฟท้องถิ่น เดินทางตั้งแต่เช้าแวะเที่ยว Gero Onsen เมืองน้ำพุร้อนก่อนถึง Takayama ค่าเดินทางเฉลี่ยคนละ 2,300 เยนเท่านั้น



แบบที่ 2 หนึ่งคนใช้เดินทางทั้ง 5 วันเลยก็ได้ (การใช้ในแต่ละวันไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดิม)
แบบที่ 3 สองคนแบ่งกันใช้ร่วมกันใน 2 วัน และอีกคนใช้หนึ่งครั้งที่เหลือ
แบบที่ 4 สองคนแบ่งกันใช้ในวันเดียว และหนึ่งคนใช้อีก 3 วันที่เหลือ
แบบที่ 5 สามคนแบ่งกันใช้ในวันเดียว อีกสองคนแบ่งกันใช้อีก 1 วัน
และแบบอื่นๆอีกมากมาย แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ในการใช้

แต่ของดีราคาถูกแบบนี้ไม่ได้มีขายกันตลอดทั้งปีนะ เพราะในหนึ่งปี Seishun 18 Kippu มีขายแค่ 3 ช่วงเท่านั้น

Period
Valid

On Sale
Spring
March 1 to April 10

February 20 to March 31
Summer
July 20 to September 10

July 1 to August 31
Winter
December 10 to January 10

December 1 to December 31


ลองสัมผัสบรรยากาศรถไฟท้องถิ่น และอาจพบว่าความช้าไม่ได้มากับความน่าเบื่อเสมอไป
เพราะในบางช่วงของการเดินทางด้วยตั๋ว Seishun 18 Kippu ทำให้
พวกเรา 5 คนเหมือนมีโบกี้รถไฟเป็นของตัวเองให้เลือกที่นั่งได้อย่างอิสระ
พวกเราได้พบเห็นชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นในแต่ละท้องถิ่นได้ลึกมากขึ้น
พวกเรามองเห็นวิวสองข้างทางได้ชัดมากขึ้น
พวกเราได้มีเวลาศึกษาแผนที่ของจุดหมายปลายทางที่กำลังจะไปถึงมากขึ้น



"ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" มันเป็นแบบนี้นี่เอง

ขอบคุณข้อมูลและรูปตั๋วจาก japan-guide.com
ขอบคุณภาพประกอบอื่นๆจาก ศิระ (ก็อปไปใช้ให้เครดิตด้วยนะ)





วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ร้อนนี้ที่ Kamakura



เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่รู้สึกอิจฉาคนในประเทศนี้เสมอ คือ อากาศ
ไม่ใช่แค่ความหนาวเย็นที่หาไม่ได้ในเมืองไทย
แต่ฤดูที่เปลี่ยนไป ทำให้การใช้ชีวิตและกิจกรรมต่างๆของผู้คนไม่จำเจ
การแต่งตัว กิจกรรม และอาหาร ล้วนแตกต่างออกไปตามฤดูกาล

จากที่เคยเห็นคนแบกอุปกรณ์สกีขึ้นรถไฟเมื่อตอนเดือนกุมภาพันธ์
ช่วงกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีโอกาสได้เห็นหนุ่ม-สาวจากโตเกียว แบกกระดานโต้คลื่น

พร้อมด้วยอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมริมทะเลอื่นๆ มุ่งหน้าสู่เมือง Kamakura


















Zaimokuza และ Yuigahama เป็นสองชายหาดในเมือง Kamakura ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ เนื่องจากนั่งรถไฟเพียงแค่ชั่วโมงเดียวจากโตเกียว
ก็จะได้รับลมทะเลเย็นๆ และแสงแดดที่เหมาะกับการอาบแดด หรือลงเล่นน้ำทะเล
แถมยังมีร้านอาหารชั่วคราวตั้งเรียงรายริมหาดให้ได้เลือกพักท้องพร้อมปาร์ตี้ย่อมๆกันได้

















หากเล่นน้ำทะเลจนเต็มอิ่มแล้ว แช่ออนเซนก่อนเดินทางกลับบ้านก็จะช่วยให้ร่างกายสบายมากขึ้น
ในพื้นที่ Kamakura มีออนเซนเพียงแห่งเดียวที่สถานี Inamuragasaki ห่างจากสถานี Kamakura 
โดยรถไฟสาย Enoden ประมาณ 4 สถานี ราคาสำหรับการแช่ออนเซนอยู่ที่ 1500 เยนต่อคน

จบ One Day Trip ช่วงหน้าร้อนแบบฉบับโตเกียว